วันอาทิตย์ที่ 22 ตุลาคม พ.ศ. 2560

นิราศเมืองแกลง

             

นิราศเมืองแกลง 

                 นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่แต่งเมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง ในปี พ.. 2349

            ผู้แต่ง สุนทรภู่ เดิมมีชื่อว่า ภู่ เกิดเมื่อวันที่ 26 มิถุนายน พ.. 2329 ที่เมืองแกลง มีอุปนิสัยไม่ชอบทำงาน ติดเหล้า สุนทรภู่มีภรรยาถึง 2 คนด้วยกันชื่อ นิ่ม กับ จัน ต่อมาในรัชกาลที่ 2 สุนทรภู่เป็นคนที่โปรดปรานและได้รับตำแหน่งเป็น ขุนสุนทรโวหาร ในกรมอาลักษณ์ เมื่อสิ้นรัชกาลที่ 2 ชีวิตสุนทรภู่เริ่มตกต่ำ ถูกถอดออกตำแหน่งขุนสุนทรโวหาร จากนั้นสุนทรภู่ได้มาอยู่ที่วัดพระเชตุพนฯ เพราะด้วยความปรานีของพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ คงได้บวชเป็นพระที่วัดนั้นด้วย เมื่อพระองค์เจ้าลักขณานุคุณ สิ้นพระชนม์ลง ชีวิตของสุนทรภู่ก็ตกต่ำลงอีกด้วย ต้องร่อนเร่ขายกลอนเลี้ยงชีพ ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 4 ได้ทรงแต่งตั้งสุนทรภู่เข้ารับราชการอีกเป็นกรมอาลักษณ์ฝ่ายพระราชวังบวร มีตำแหน่งเป็นสุนทรโวหารสูงกว่าเดิมสุนทรภู่รับราชการอยู่กับรัชกาลที่ 4 เป็นเวลาถึง 5 ปี ก็ถึงกรรมใน พ.. 2398 มีอายุได้ 70 ปี

            ทำนองแต่ง  แต่งเป็นกลอนนิราศ

            วัตถุประสงค์ในการแต่ง  แต่งเพื่อบันทึกการเดินทางและแสดงความรู้สึกนึกคิดของตน

            นิราศเมืองแกลง   มีความยาว 496 คำกลอน เป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่และเป็นนิราศที่ยาวที่สุดของสุนทรภู่ สุนทรภู่เขียนเมื่อเดินทางไปพบบิดาซึ่งบวชเป็นพระอยู่ที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จังหวัดระยอง ภายหลังที่พ้นโทษเพราะไปรักใคร่กับแม่จันทร์สาในพระราชสำนักสมเด็จฯ เจ้าฟ้าฯ กรมหลวงอนุรักษ์ทเวศร์ กรมพระราชวัง เมื่อกรมพระราชวังหลังเสด็จทิวงคตเมื่อปีพุทธศักราช 2350 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงทรงปล่อยนักโทษตามโบราณราชประเพณี


            สาระสำคัญ  พรรณนาถึงการเดินทางไปบ้านกร่ำเมืองแกลง เพื่อเยี่ยมบิดา โดยไปทางเรือกับศิษย์สองคน คือ น้อย กับพุ่ม มีนายแสงเป็นคนนำทางไป การเดินทางครั้งนี้ผ่านสถานที่ต่างๆ มากมาย ไปขึ้นบกที่ตำบลบางปลาสร้อย เมืองชลบุรี เดินทาต่อไปจนถึงบ้านกร่ำ อยู่ที่นั้น สุนทรภู่ป่วยต้องรอรักษาให้หายดีเสียก่อนจึงกลับ



ตัวอย่าง

            สำนวนจองหองพองขน
                        โอ้คลองขวางทางแดนแสนโสทก               ดูบนบกก็แต่ล้วนลิงแสม
            เลียบตลิ่งวิ่งตามชาวเรือแพ                                   ทำลอบแลหลอนหลอกตะคอกคน
            คำโบราณท่านผูกถูกทุกสิ่ง                                    เขาว่าลิงจองหองมันพองขน
            ทำหลุกหลิกเหลือกลานพาลุกลน                           เขาด่าคนจึงว่าลิงโลนลำพอง

            พรรณนาความเป็นไปของผู้คนแถวนั้น
                        ถึงบางพลีมีเรือนอารามพระ                      ดูระกะดาษทางไปกลางทุ่ง
            เป็นเลนลุ่มลึกเหลวเพียงเอวพุง                             ต้องลากจูงจ้างควายอยู่รายเรียง
            ดูเรือนแพแออัดอยู่ยัดเยียด                                    เช้าเบียดเสียดแทรกกันสนั่นเสียง
            แจวตะกูดเกะกะประกะเชียง                                 บ้างทุ่มเถียงโดนดุนกันวุ่นวาย
                        พอฟ้าคล้ำค่ำพลบลงหรบรู่                        ยุ่งออกฉู่ชิงพลบตบไม่ไหว
            ได้รับรองป้องกันเพียงควันไฟ                               แต่หายใจไม่ค่อยออกด้วยอบอาย
            โอ้ยามยากจากเมองแล้วลืมมุ้ง                               มากรำยุงเวทนาประดาหาย
            จะกวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย                                   แม้เจ้านายไม่ใช้แล้วไม่มา

            พรรณนาตามสิ่งที่เห็น
                        ถึงบ้านแลงทางแห้งเห็นทุ่งกว้าง                เฟือนหนทางทวนทบตลบหา
            บุกระแวงแฝกแขมกับหญ้าคา                                จนแดดกล้ามาถึงย่านบ้านตะพง
            มีเคหาอารามงามระรื่น                                        ด้วยพ่างพื้นพุ่มไม้ไพรระหง
            ตัดกระพ้อห่อได้ทุกไร่กง                                      ที่หลีกลงทางทุ่งกระทอลอ

            พรรณนาวิถีชีวิตชาวบ้าน
                        ถึงศาลเจ้าอ่าวสมุทรที่สุดหาด                    เลียบลีลาศขึ้นตามช่องที่คลองขวาง
            ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง                           เห็นฝูงนางสานเสื่อนั้นเหลือนั้นเหลือใจ
            แต่ปากพลอดมือสอดขยุกขยิก                                จนมือหงิกงอแงไม่แบได้
            เป็นส่วยบ้ายสานส่งเข้ากรุงไกร                             เด็กผู้ใหญ่ทำเป็นไม่เว้นคน

            ชมดนตรี
                        มโหรีปี่ไฉนจับใจแจ้ว                              วิเวกแว่วกล่องโยนตะโพนกระหึ่ม
            ทุกที่ทับสัปบุรุษก็พูดพึม                                       รุกขาครื้มครอบแสงพระจันทร
            เสนาะเสียงเทศนาปุจฉาถาม                                 ในสนามเสียงสนั่นเนินสังขร
            เป็นวันบัณรสีรวีวร                                              พระจันทรทรงกลดรจนา

            ชมความงามในเวลากลางคืน
                        พระจันทร์ส่องต้องยอดมณฑปสุก              ในหน้ามุขเงางามอร่ามฉาย
            นกบินกรวดพรวดราดประกายพราย                       พลุกกระจายช่อช่วงดังดวงเดือน
            ดอกไม้ร้องป้องปีกสนั่นป่า                                   ในแหล่งหล้าใครไม่มีเสมอเหมือน
            แต่คนเดินพัลวันออกฟั่นเฟือน                                จนจันทร์เคลื่อนรถคล้อยลับเมฆา   

        
คุณค่าของนิราศเมืองแกลง

1.       ในทางอักษรศาสตร์ พรรณนาเกี่ยวกับธรรมชาติได้ดีมาก แต่อย่างอื่นๆ ยังไม่ดีนัก เพราะเป็นนิราศเรื่องแรกที่แต่ง
2.       ในทางวิถีชีวิต ได้แสดงถึงความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพของผู้คนสมัยนั้น

3.       ในทางคติธรรม ได้ให้แง่คิด คติธรรม คำสอนต่างๆ ไว้พอสมควร

วิเคราะห์นิราศเมืองแกลง

            ช่วงเวลาของการแต่ง 
                                  สุนทรภู่แต่งนิราศเมืองแกลงเป็นงานนิราศเรื่องแรก ก่อนหน้านี้สันนิฐานว่าได้แต่งวรรณคดีนิทานเรื่อง โคบุตร ก่อนแล้ว เพราะปรากฏคำขึ้นต้นนิทานโคบุตรว่า

                                    แต่ปางหลังครั้งว่างพระศาสนา
                         เป็นปฐมสมมตินิทานมา
                        ด้วยปัญญายังประวิงทั้งหญิงชาย
                        ฉันชื่อภู่รู้เรื่องประจักษ์แจ้ง
                        จึงแสดงคำคิดประดิษฐ์ถวาย
                        ตามสติริเริ่มเรื่องนิยาย
                        ให้เพริศพรายพริ้งเพราะเสนาะกรรณ

            คำว่า เป็นปฐมสมมตินิทานเป็นคำชี้บอกว่า โคบุตร เป็นนิทานเรื่องแรกที่สุนทรภู่แต่ง

                คำว่า แสดงคำคิดประดิษฐ์ถวายเป็นคำชี้บอกว่า ตั้งใจแต่งเพื่อถวายเจ้านายพระองค์ใดพระองค์หนึ่ง เท่าที่รวบรวมได้มีทั้งหมด 8 เล่มสมุดไทย ไม่แน่ใจว่าจะแต่งรวดเดียวทั้ง 8 เล่ม หรือแต่งเป็นหลายครั้งหลายคราว แต่เรื่องโคบุตรนี้แต่งไม่จบเรื่อง
            ดังนั้น จะเห็นว่า สุนทรภู่เริ่มเป็นนักเลงกลอน บอกสักวาเขียนเพลงยาว (จดหมายรัก ซึ่งสมัยนั้นนิยมแต่งเป็นกลอน) ตั้งแต่เริ่มแตกเนื้อหนุ่ม อายุยังไม่ถึง 20 ปี และมีชื่อเสียงเพียงพอที่จะมีคนมาขอศึกษาทางกลอนเป็นลูกศิษย์เพราะเมื่อเดินทางไปเมืองแกลงนี้มีลูกศิษย์ติดตามไปด้วย 2 คน คือ น้อย กับ พุ่ม
            นิราศเมืองแกลงเป็นนิราศเรื่องแรกของสุนทรภู่และแต่งเมื่ออายุยังน้อย เป็นหนุ่มเต็มตัว ประสบการณ์ชีวิตยังไม่มีอิทธิพลต่อการเขียนมากนัก จึงมีความเป็นตัวของตัวเองสูงมาก ผู้อ่านจะพบความเป็นสุนทรภู่อย่างแท้จริง จากการวิเคราะห์นิราศเรื่องนี้ว่ามีอารมณ์ถวิลหาความรักอย่างรุนแรงมั่นอยู่ที่จัน ซึ่งอาจเป็นหญิงคนแรกที่รักมาก มีหลายตอนที่กล่าวถึงจัน

                        - จะมีคู่มิได้อยู่ประคองเชย
            ต้องละเลยดวงใจไว้ไกลตา
                        " ฉันพลัดพรากจากจรเพราะร้อนจิต
            ใช่จะคิดอายอางขนางหนี
                        ให้นิ่มน้องครองรักไว้สักปี”……………….

                ข้อความนี้น่าจะเป็นแง่มุมให้คิดว่า สุนทรภู่ครองรักกับจันแต่งยังไม่ได้แต่งงานกันตามประเพณี และคงมีอุปสรรคขัดข้องอยู่ สุนทรภู่จึงขอเวลาจันไว้สักปี

                        ยิ่งอาลัยใจมาอยู่ที่คู่ครอง
            แม้นแม่น้องได้มาเห็นเหมือนเช่นนี้
            จะแอบอิงวิงวอนชะอ้อนถาม
            ตำแหน่งนามเกาะแก่งแขวงวิถี
            ได้เชยชื่นรื่นรสสุมาลี
            แล้วจะชี้ให้แม่ชมยมนา
           
            บทกลอนบทนี้ข้างต้นนี้ได้สะท้อนอารมณ์ถวิลหาอย่างชัดเจนแสดงถึงความรักที่มีต่อหญิงอย่างแท้จริง สิ่งใดที่แปลกตาน่าชมตนเองได้ชมแล้ว ก็คิดอยากให้หญิงคนรักของตนได้ชมบ้าง และบทต่อไปนี้มีควาไพเราะอ่อนหวานของความรักอีกเช่นกัน

                        ไหนตัวพี่นี้จะชมทะเลหลวง
            จะชมดวงนัยเนตรของเชษฐา
                โอ้อาลัยไกลแก้วกานดามา
            กลั้นน้ำตามิใคร่หยุดสุดระกำ
            เสียดายนักภัคินีของพี่เอ๋ย
            ยังชื่นเชยชมชิมมิอิ่มหนำ
            มายากเย็นเห็นแต่ผ้าแพรวดำ
            ได้ห่มกรำอยู่กับกายไม่วายตรอม

            ผ้าแพรวดำที่กล่าวถึงนี้เข้าใจว่าเป็นสิ่งที่จันมอบให้สุนทรภู่ไว้เป็นของที่ระลึกแนบกาย หญิงชั้นผู้ดีสมัยนั้นนิยมห่มผ้าแพรทับผ้าสไบอีกชั้นหนึ่ง และมักเป็นแพรดำ เป็นผ้ามาจากเมืองจีนในเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนที่สุนทรภู่แต่งก็กล่าวถึงนางวันทองห่มผ้าแพรดำไว้ในตอนท้ายว่า

                        - พี่จากไปได้แต่รักมาฝากน้อง
            มากกว่าของอื่นอื่นสักหมื่นแสน
            พอเป็นค่าผ้าห่มที่ชมแทน
            อย่าเคืองแค้นเลยที่ฉันไม่ทันลา
                       -  ได้แนบหมอนอ่อนอุ่นให้ฉุนชื่น
            ระรวยรื่นรสลำดวนเมื่อจวนดึก
            ทั้งหอมแพรดำร่ำยิ่งรำลึก
            ทรวงระทึกทุกทุกคืนสะอื้นใจ
               
                จันของสุนทรภู่คงเป็นหญิงขี้หึง อารมณ์ร้ายจนสุนทรภู่เองทั้งรักทั้งแหยง ๆ อยู่ ได้เอ่ยถึงไว้หลายตอนดังต่อไปนี้

                        ขอให้น้องครองสัตย์ซึ่งปฏิญาณ
            พอควรคู่รับรู้รักประจักษ์จิต
            ได้ชื่นชิดชมน้องประคองสม
            ถึงต่างแดนแสนไกลไพรพนม
            ได้ลอยลมลงมาแอบแนบอุรา
            อย่ารู้จักผลักพลิกทั้งทั้งหยิกข่วน
            แขนแต่ล้วนรอยเล็บเจ็บนักหนา
            ให้แย้มยิ้มพริ้มพร้อมน้อมวิญญาณ
            แล้วก็อย่าขี้หึงตะบึงตะบอน


และอีกตอนหนึ่ง

                        ถึงเจ็บไข้ไม่ตายไม่คลายรัก
            มีแต่ลักลอบนึกรำลึกถึง
            ช่วยยิ้มแย้มแช่มชื่นอย่ามึนตึง
            ให้เหือดหึงลงเสียบ้างจงฟังคำ

            สุนทรภู่ได้เขียนรำพันถึงความรักที่มีต่อจันไว้อย่างลึกซึ้งคือ

                        พี่อุ้มทุกข์บุกป่ามหารณพ
            มาหมายพบพูดความกับงามขำ
            อย่าบิดเบือนเชือนช้าพาระกำ
            อยู่แต่กร่ำตรอมกายมาหลาย

เดือน
            ได้ดูงามตามทางที่นางอื่น
            ก็หลายหมื่นเหยียบแสนไม่แม้นเหมือน
            ไม่มีสู้คู่ควรกระบวนเบือน
            เหมือนแม่เพื่อนชีพชายจนปลายแดน         




วันพุธที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คุณค่าทางคติชนวิทยา

คุณค่าทางคติชนวิทยา

            คติชนวิทยา คือ เรื่องราวที่บอกถึงความเชื่อ วัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต และกลุ่มชน ในนิราศเมืองแกลงมีอยู่หลายตอนดังนี้

              1.โอ้ธานีศรีอยุธยาเอ๋ย นึกจะเชยก็ได้ชมสมประสงค์ และคิดถึงน้องหมองใจอาลัยลาญ แม้นแจ้งการว่าพี่จากอยุธยา บทกลอนสองคำนี้ชี้ว่า คนไทยสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นยังคงเรียกเมืองหลวงของตนว่า อยุธยา คำว่าอยุธยาที่นี้หมายถึงกรุงเทพฯ นั้นเอง
                2.การเสพกัญชา ยาฝิ่นในสมัยนั้น เป็นเรื่องไม่ผิดกฎหมาย นายแสงที่อาสานำทางให้สุนทรภู่นั้นเป็นคนติดกัญชา สุนทรภู่เขียนไว้หลายแห่งได้แก่

-สงสารแสงแสนสุดเมื่อหยุดพัก
เฝ้านั่งชักกัญชากับตาสัง
- ทำซมเซอะเคอะคะมาปะเขา
แต่โดยเมากัญชาจนตาขวาง
- เห็นนายแสงเป็นผู้ใหญ่ก็ใจหาย
นังพยุงตุ้งก่านัยน์ตาลาย
เห็นวุ่นวายสับสนก็ลนลาน
- นายแสงหายคลายโทโสที่โกรธา
          ชัญกัญชานั่งกริ่มยิ้มละไม

                3.วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาวบ้าน สุนทรภู่เป็นชาววังมาตั้งแต่เกิด มีความละเอียดละเมียดละไม ประณีตไปนความเป็นอยู่ไปทุก ๆ อย่างจึงมองชีวิตชาวบ้านเป็นอีกระดับหนึ่งและวางตนเหนือชาวบ้าน ซึ่งจะไปกล่าวหาว่าท่านเป็นคนไม่ติดดินก็ไม่ถูกนัก เพราะตลอดชีวิตท่านคลุกคลีอยู่กับชาววัง ท่านจึงรับไม่ได้กับอาหารการกิน ความเป็นอยู่ คำพูด คำจา ผู้หญิง ธรรมชาติ สภาพแวดล้อม สภาพบ้านเมือง และแม้แต่การประกอบการงาน ท่านก็เห็นเป็นของแปลก จะว่าท่านดูถูกชาวบ้านก็ไม่เชิงนัก แต่ดูเหมือนท่านจะเห็นว่าเป็นคนละพวกกับท่านมากกว่า พอจะวิเคราะห์เป็นประเด็นได้ดังนี้

            3.1 การกิน ท่านกล่าวถึงอาหารการกินไว้ในบทนิราศนี้หลายตอนได้แก่

                                เขาหุงหาอาหารให้ตามจน
                   โอ้ยามยลโภชนาน้ำตาคลอ
                    จะกลืนข้าวคราวโศกในทรวงเสียว
                 เหมือนขืนเคี้ยวกรวดแกลบให้แสบคอ
                 ต้องเจือน้ำกล้ำกลืนพอกลั้วคอ
                 กินแต่พอดับลมด้วยตรมใจ

                                      -จะเคี้ยวข้าวตะละคำเอาน้ำเจือ
                 พอกลั้วเกลื้อกล้ำกลืนค่อยชื่นใจ
 -พอเวลาสายัณห์ตะวันชาย
                 ได้กระต่ายตะกวดกวางมาย่างแกง
                 ทั้งแย้บึ้งอึ่งอ่างเนื้อค่างคั่ว
                 เขาทำครัวครั้นไปปะขยะแขยง
                 ต้องอดสิ้นกินแต่ข้าวกับเต้าแตง

                            -อยู่บุรินกินสำราญทั้งหวานเปรี้ยว
                   ตั้งแต่เที่ยวยากไร้มาไพรศรี
                   แต่น้ำตาลมิได้พานในนาภี
                   ปัถวีวาโยก็หย่อนลง

                3.2 ความเป็นอยู่ ชะรอยในวังนั้นคงไม่ค่อยได้ประกอบอาชีพทำมาหากินอะไรเป็นล่ำเป็นสัน จึงมองเห็นว่าคนที่ทำการต่างๆ นั้นลำบากลำบน เช่น

- แล้วไปชมกรมการบ้านดอนเด็จ
                    ล้วนเลี้ยงเป็ดหมูเนื้อดูเหลือเข็ญ
                    ยกกระบัตรคัดช้อนทุกเช้าเย็น
                    เมียที่เป็นท่านผู้หญิงนั่งปิ้งปลา

               
                การประกอบการงานที่กล่าวถึงนั้นน่าสนใจ ได้แก่ ถีบกระดานเก็บหอย ดังบทกลอนว่า

                            - อันนารีที่ยังสาวพวกชาวบ้าน
                    ถีบกระดานถือตะกร้าเที่ยวหาหอย
                    ดูแคล่วคล่องคล่องแล่นแฉลบลอย
                    เอาขาห้อยทำเป็นหางไปกลางเลน
                    อันพวกเขาชาวประโมงไม่โหย่งหยิบ
                    ล้วนตีนถีบปากกัดขัดเขมร
                     จะได้กินข้าวเช้าก็ราวเพล
                     ดูจัดเจนโลดโผนในโคลนตม

            ทำน้ำปลา ชาวบ้านจะทำน้ำปลา หน้าปลาชุมตักปลาขึ้นมาได้ทีละถัง ๆ เอาใส่โอ่งเอาเกลือหมักทิ้งไว้ทำน้ำปลา กลิ่นรุนแรงมาก จึงมักชุมนุมทำกันในที่ ๆ ห่างบ้าน บทกลอนว่า

                                     -ถึงปากช่องคลองกรุ่นเห็นคลองกว้าง
                      มีโรงร้างเรียงรายชายพฤกษา
                      เป็นชุมรุมหน้านำเขาทำปลา
                      ไม่รอรารีบเดินดำเนินพลาง


            งานสานสื่อ
                             -ถึงบ้านแกลงลัดบ้านไปย่านกลาง
                       เป็นฝูงนางสารเสื่อนั้นเหลือใจ             
                       แต่ปากพลอดมือสอดขยุกขยิก
                       จนมือหงิกงอแงไม่แบได้
                       เป็นส่วยบ้านสานส่งเข้ากรุงไกร
                       เด็กผู้ใหญ่ทำเป็นไม่เว้นคน


                3.3 รูปลักษณ์ของชาวบ้านในสายตาของสุนทรภู่ ชาวบ้านดูไม่ดีเลย เช่นการพูด

                             -ถามราคาพร้าขวานจะวานซื้อ
                        ล้วนอออือเอ็งกะกูกะหนูกะหนี
                        ทีคะขาคำหวานนานนานมี
                        เป็นว่าขี้คร้านฟังแต่ซังตาย

                               -เห็นสาวสาวชาวไร่เขาไถที่
                          บ้างพาทีอือเออเสียงเหนอหนอ
                          แลขี้ไคลใส่ตาบเป็นคราบคอ
                          ผ้าห่มห่อหมากแห้งตาแบงมาน

            สุนทรภู่ไม่เคยมองว่าสาวชาวบ้านสวยงามเลย เพราะรสนิยมของท่านคือชาววัง เช่น

                                 -ดูรูปร่างนางบรรดาแม่ค้าเคียง
                         เห็นเกลี้ยงเกลี้ยงกล้องแกล้งเป็นอย่างทาง

                                   -นางชาวนาก็ไม่น่าจะชื่นใจ
                          คราบขี้ไคลคร่ำคร่าดังทาคราม
                          อันนางในนคราถึงทาสี
                          ดีกว่านางทั้งนี้สักสองสาม

                                     -ดูหนุ่มสาวชาวบ้านรำคาญจิต
                           ไม่น่าคิดเข้าในกลอนอักษรสนอง
                            ล้วนวงศ์วานว่านเครือเป็นเชื้อชอง
                            ไม่เหมือนน้องนึกน่าน้ำตากระเด็น

วันอาทิตย์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ความมีน้ำใจแบบไทยไทย

ความมีน้ำใจแบบไทยไทย

คนไทยมีน้ำใจดี มีอัธยาศัยดี สามารถเข้าไปพึ่งพาอาศัยได้โดยไม่รังเกียจ ซ้ำให้การต้อนรับขับสู้อย่างดีด้วย ปรากฏในนิราศเมืองแกลงหลายตอน เช่น

-ถึงระยองเหย้าเรือนดูไสว
แวะเข้าย่านบ้านเก่าค่อยเบาใจ
เขาจุดไต้ต้อนรับให้หลับนอน
-พอพลบค่ำสำนักที่เรือนเพื่อน
ดูเหย้าเรือนชาวแขวงทุกทุกแห่งหน
มุงด้วยไม้หวายโสมแสนพิกล
ไม่มีคนแล้วก็ม้วนหลังคาวาง
ครั้นคนมาเอาหลังคาขึ้นคลุมคลี่
ดูก็ดีเร็วรัดไม่ขัดขวาง
-เห็นไร่แตงแกล้งแวะเข้าริมห้าง
ทำถามทางชักชวนให้สรวลเส
พอเจ้าของแตงโมปะโลปะเล
สมคะเนกินแตงพอแรงกัน
-ถึงห้วยขวางตัดทางเข้าไต่ถาม
พบขุนรามเรียกหาเข้าอาศัย
กินข้าวปลาอาหารสำราญใจ
เขาแต่งให้หลับนอนผ่อนกำลัง
-พอพบเรือนเพื่อนชายชื่อนายมา
เขาโอภาต้อนรับให้หลับนอน
-มีมิตรชายท้ายย่านเป็นบ้านไทย
สำนักในเคหาขุนจ่าเมือง

ความเชื่อ ความเชื่อเป็นเรื่องเหนือเหตุผลทางความคิด คนไทยมีความเชื่อต่าง ๆ มากมาย เช่น ลางสังหรณ์ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ความฝัน ในนิราศเมืองแกลงมีเรื่องเกี่ยวกับความเชื่อปรากฎอยู่หลายแห่ง คือ

-ขออารักษ์หลักประเทศนิเวศน์วัง
เทพทั้งเมืองฟ้าสุราลัย
ขอฝากน้องสองรามารดาด้วย
เอ็นดูช่วยปกครองให้ผ่องใส
ระวังตัวกลัวตอตะเคียนขวาง
เป็นเยี่ยงอย่างผู้เฒ่าเล่าสนอง
ว่าผีสางสิงนางตะเคียนคะนอง
ใครถูกต้องแตกตายลงหลายลำ
-จึงมั่งคั่งตั้งบ้านในการบาป
แต่ต้องสาปเคหาให้สาสม
จะปลูกเรือนก็มิได้ใส่ปั้นลม
ใครขืนทำก็ระทมด้วยเพลิงลาม
-ยิ่งหวาดจิตคิดคุณพระชินสีห์
กับชนนีปิตุเรศบังเกิดตัว
ให้พ้นชั่วที่ชื่อว่าไภยันต์
-ให้เคลิ้มเคล้นเห็นปีศาจประหวาดหวั่น
อินทรีย์สั่นเศียรพองสยองจน
ท่านบิดาหาผู้ที่รู้มนต์
มาหลายคนเขาว่าต้องอารักษ์
หลงละเมอเพ้อพูดกับผีสาง
ที่เคียงข้างเดินผู้ไม่รู้จัก
แต่หมอเฒ่าเป่าปัดชะงัดนัก
ทั้งเซ่นวักหลายวันค่อยบรรเทา

วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คุณค่าทางภาษา

คุณค่าทางภาษา  

ได้แก่การใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารและภาษาให้อารมณ์ มีวิเคราะห์ได้คือ

การใช้ถ้อยคำ
1. สุนทรภู่ใช้คำให้ความหมายชัดเจน
-แต่ย่างย้ายทรายฝุ่นขยุ่นยุบ
ยิ่งเหยียบฟุบขาแข้งให้แข็งขึง

             คำว่า ขยุ่มยุบ ให้ความชัดเจนดีมากว่าเดินเหยียบทรายที่ละเอียดเป็นฝุ่นนั้นมันหยุ่น ๆ เท้า ก้าวไปได้ช้า และเหนี่อย

-พอฟ้าขาว ดาวเดือน ก็เลื่อนลด ใช้คำง่ายๆ เข้าใจได้ง่าย และตรง ๆ
-กำดัดแดดแผดร้อนทุกขุมขน มีความหมายชัดตรงทุกคำ และแปลกที่เอาคำว่ากำดัดมาประกอบคำว่าแดด
-บ้างถาบถาพาคู่ฟุบฝุ่น คำชัดเจนมากมาก ถาบ ถา ฟุบฝุ่น เป็นรูปธรรมที่มองเห็นกิริยาอาการได้ทันทีเมื่ออ่าน
-ดูบนบกก็แต่ล้วนลิงแสม - ทำลอบแลหลอนหลอก ตะคอกคน ลอบแล หลอนหลอก ตะคอก เห็นอาการของลิงได้ดี
-ถึงเขาขวาง ว่างเวิ้ง ชะวากวุ้งเป็นคำที่สุนทรภู่ใช้บ่อยมากกับลักษณะของ เชิงผา หลืบเขา ถ้ำ ทะเล
-น้ำตาตกอกโอ้อนาถเหนื่อยให้มึนเมื่อยขัดข้องทั้งสองขา
-กลืนกระเดือกเกลือกกล้ำกินน้ำลาย เจียนจะตายเสียด้วยร้อนอ่อนกำลัง ให่ความรู้สึกคอแห้งกระวนกระวาย
-เมฆแอร่มแย้มแยกแหวกตะวัน เป็นคำให้ภาพดีมาก ไม่พบว่าใครใช้ว่าเมฆแยกแหวกตะวัน
-เขม้นเมินเดินตรงเข้าดงดึก ดูซึ้งซึกมิได้เห็นสุรีย์ใส คำว่าดงดึก ดีกว่า ดงลึก เสียงต่ำ กดความรู้สึกให้ลึกลงไป และคำว่าซึ้งซึก ก็เป็นคำที่ไม่เคยมีใครใช้ขยายป่า แต่พออ่าน ตรงนี้ได้ภาพป่าครึ้มลึก
-กระโดดเผาะเกาะผับกระหยับคืบ ได้จังหวะคำและได้ความชัดเจน ใครฟังอ่านดูก็รู้ทันทีว่านี่คือหนอนหรือทากแน่นอน
-ให้เหือดหึงลงเสียบ้างจงฟังคำ คำว่าเหือด คือ แห้งหมด คำว่าเหือดหึง ดีทั้งเสียงพยัญชนะและความหมาย 

2. การใช้คำที่เป็นเสียงแสดงความหมาย คำเหล่านี้ถ้าอยู่โดด ๆ ดูจะเป็นคำที่ไม่มีความหมายหลัก หรือไม่มี ความหมาย ประจำตัว แต่เมื่อสุนทรภู่ นำมาเขียนประกอบเข้ากับความกลับ ทำให้ผู้อ่านได้รับความหมายที่เข้าถึงความคิด ความรู้สึกได้ดีมาก ลักษณะนี้ดูจะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสุนทรภู่ ที่ไม่พบในกวีท่านอื่นๆ เช่นบทกลอนที่ยกมาดังต่อไปนี้
ดูเรือแพแต่ละลำล้วนปะโหละ พวกเจ็กจีนกินโต๊ะกัน โหลเหล
ดูกรวดทรายพรายงามเหมือนเงินราง คำว่ารางที่นี้จะให้ความรู้สึกเงางาม แวววาว ขาววับวาว ทำนองนั้น วรรคนี้พบในเรื่องพระอภัยมณีอีก ในตอนที่สินสมุทรออกจากถ้ำ
ทำซมเซอะเคอะคะมาปะขา ให้ความคิดว่าเซ่อซ่าทำอะไรไม่เข้าท่า
ดูซึ้งซึกมิได้เห็นสุรีย์ใส ลำพังคำว่าซึกไม่มีความหมายตามตัว มาใช้ประกอบ ซึงกลับได้ความดี
-กะมอง กะเมงนมแมวเป็นแถวนั้นไป กะมองกะเมงให้ภาพต้นไม้ขึ้นพันกันไม่รู้ว่าต้นอะไรเป็นต้นอะไร
เพราะเจ้าของแตงโมปะโลปะเล น่าจะได้ความหมายว่า สรวลเสเฮฮาด้วย ล้วนอออือเองกูกะหนูกะหนีคำจำพวกกะหนุงกะหนิงใช้เพี้ยนไป

3. ใช้คำเลียนเสียง มีคำยินเลียนเสียงปรากฏใช้อยู่หลายที่
-ถ้วยชามกลิ้งฉิ่งฉ่างเสียงกร่างโกร่ง -
เป็นเหตุการณ์ตอนที่เรือติดโคลน ต้องช่วยกันถ่อเรือ ข้าวของในเรือกลิ้งไปตามเรือที่เอียงไปเอียงมา
เหมือนคนกรม โครกครอก ทำกรอกตา
เสียงลิงค่างที่ไต่อยู่คาคบไม้ส่งเสียงเมื่อมันตกใจเพราะมีคนเดินมา
-เสียงลิงค่างบางชะนีวะหวีดโหวย กระหึมโหยห้อยไม้น่าใจหาย


4. ความไพเราะอันเกิดจากถ้อยคำ กวีเป็นนายของภาษาสามารถใช้บันดาล ให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์ได้อย่างแนบเนียนเป็นขุนคลังของถ้อยคำ จึงมีคำหลายรส หลายอารมณ์ สร้างความไพเราะได้มากมาย ไพเราะด้วยความหมาย ด้วยเสียงสัมผัสสระ , พยัญชนะและไพเราะด้วยน้ำเสียงอันกระทบกระทั่งกัน
                                           -ลำพูรายพรายพร้อยหิ่งห้อยจับ
                                สว่างวับแวววามอร่ามเหลือง
                                เสมอเม็ดเพชรรัตน์จำรัสเรือง
                                ค่อยประเทืองทุกข์ทัศนาชม


พรรณนาโวหาร ให้เห็นภาพพจน์

                        -เห็นพฤกษาไม้มะค่ามะขามข่อย
            ทั้งไทรย้อยยอดโยนโดนตะโขง
            เหมือนไม้ดัดจัดวางข้างพระโรง
            เป็นพุ่มโพรงสาขาน่าเสียดาย
                        -ศิลาแลเป็นชะแง่ชะงักงอน
            บ้างพรุนพรอนแตกกาบเป็นคราบไคล
                        -ค่อยตะกายป่ายปีนเปะปะไป
            จะขาดใจเสียด้วยเหนื่อยทั้งเมื่อยกาย
                        -ถึงพงค้อคอเขาเป็นโขดเขิน
            ต้องขึ้นเนินภูเขาป่าระหง
            ส่งกระทั่งหลังโคกเป็นโตรกตรง
            เมื่อจะลงก็ต้องวิ่งเหมือนลิงโลน
            แต่ข้ามห้วยเหวผาจนขาขัด
            ต้องกำดัดวิ่งเต้นดังเล่นโขน
            ทั้งรากยากขวางโกงตะโขงโคน
            สะดุดโดนโดดข้ามไปตามทาง

อุปมาโวหาร

                        -โอ้ชะนีเวทนาเที่ยวหาผัว
            เหมือนตัวพี่จากน้องให้หมองหมาง
            ชะนีเพรียกเรียกชายอยู่ปลายยาง
            พี่เรียกนางนุชน้องอยู่ในใจ
                        -จักจั่นหวั่นแว่วแจ้วแจ้วเสียง
            เหมือนสำเนียงวนิดาน้ำตาไหล
            หนาวน้ำค้างพร่างพรมพนมไพร
            โอ้เจียนใจพี่จะขาดอนาถนึก
                        -โอ้ดูเดือนเหมือนดวงสุดาแม่
            กระต่ายแลเหมือนฉันคิดพิสมัย
                                    ฯลฯ

            จุดเริ่มต้นของการเดินทางไปหาบิชาที่บ้านกร่ำอำเภอเมืองแกลงนั้นคงจะมาจากสุนทรภู่รับใช้เจ้านายพระองค์หนึ่งเข้าใจว่า คือพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าฟ้า กรมหลวงอนุรักษ์ เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ คือวัดระฆังโฆษิตารามปัจจุบัน ทรงใช้ให้สุนทรภู่ไปทำธุระให้ที่เมืองบางปลาสร้อยคือจังหวัดชลบุรีปัจจุบัน การเดินทางลำบากลำบนจนสุนทรภู่ออกปากว่า

                         โอ้ยามยากจากเมืองแล้วลืมมุ้ง
                        มากรำยุงเวทนาประดาหาย
                        จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย
                        แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา

            เมื่อถึงบางปลาสร้อยก็เข้าไปพบและพักที่บ้านขุนจ่าเมืองได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีและพักอยู่ 3 วัน เมื่อเสร็จภารกิจแล้วจึงออกเดินทาง

                                    -มีมิตรชายท้ายย่านเป็นบ้านไทย
                        สำนักในเคหาขุนจ่าเมือง
                                    -แต่แรมค้างบางปลาสร้อยได้สามวัน
                        ก็ชวนกันเลยลาคุณจ่าเมือง

            ดังนั้นเมื่อได้เดินทางมาจนถึงชลบุรีแล้วระยะทางที่จะไประยองก็อีกครึ่งทาง สุนทรภู่จึงกำหนดแผนการเดินทางไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะถือโอกาสนี้ ได้ไปหาบิดาที่สุนทรภู่ไม่เคยได้พบเลย จึงได้ตระเตรียมนายแสง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ระยองรู้จักเส้นทางดีเป็นคนนำทาง ตามที่กล่าวไว้ว่า
                                    -กับนายแสงแจ้งทางกลางอารัญ
                        จะพากันแรมทางไปต่างเมือง
            การเดินทางคงกะทันหันมาก ไม่มีเวลาเตรียมตัวแม้แต่จะลาคนรัก

                                    - จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา
                        ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน
                                    - พอเป็นค่าผ้าห่มที่ชมแทน
                        อย่าเคืองแค้นเลยที่ฉันไม่ทันลา

            สุนทรภู่เป็นตัวอย่างครอบครัวแตกแยกในสมัยก่อน ซึ่งก็คงไม่ค่อยจะมีแบบนี้นัก เพราะครอบครัวไทยถือหลักความอดทน อดออมถนอมน้ำใจชะรอยว่ามารดาของสุนทรภู่คงเป็นผู้หญิงมีตระกูล หยิ่งในตนเองพอที่จะไม่ใยดีคำพูดของคนรอบข้าง จึงกล้าหาญที่จะเลิกร้างกับบิดาของสุนทรภู่ได้ มิหนำซ้ำเมื่อเลิกร้างแล้วชีวิตก็ไม่ตกต่ำ มีเจ้านายอุปถัมภ์ค้ำจุนและยังได้แต่งงานไปมีบุตรสาว อีกสองคนด้วย แต่สุนทรภู่ก็ไม่เคยเห็นบิดาของตัวเลย คงโหยหาบิดาอยู่ จึงเขียนกลอนไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า
                      
                     - ชะรอยกรรมทำสัตว์ให้พลัดพราย
                        จึงแยกย้ายบิตุราชญาติกา
                        มาพบพ่อท้อใจด้วยไกลแม่
                        ให้ตั้งแต่เศร้าสร้อยละห้อยหา
                        ชนนีอยู่ศรีอยุธยา
                        บิดามาอ้างว้างอยู่กลางไพร
                        ภูเขาขวางทางกั้นอรัญเวศ
                        ข้ามประเทศทุ่งท่าชลาไหล
                        เดินกันดารปานปิ้มจะบรรลัย
                        จึงมาได้เห็นหน้าบิดาตัว







นิราศเมืองแกลง

              นิราศเมืองแกลง                    นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่แต่งเมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จั...