วันเสาร์ที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2560

คุณค่าทางภาษา

คุณค่าทางภาษา  

ได้แก่การใช้ถ้อยคำสำนวนโวหารและภาษาให้อารมณ์ มีวิเคราะห์ได้คือ

การใช้ถ้อยคำ
1. สุนทรภู่ใช้คำให้ความหมายชัดเจน
-แต่ย่างย้ายทรายฝุ่นขยุ่นยุบ
ยิ่งเหยียบฟุบขาแข้งให้แข็งขึง

             คำว่า ขยุ่มยุบ ให้ความชัดเจนดีมากว่าเดินเหยียบทรายที่ละเอียดเป็นฝุ่นนั้นมันหยุ่น ๆ เท้า ก้าวไปได้ช้า และเหนี่อย

-พอฟ้าขาว ดาวเดือน ก็เลื่อนลด ใช้คำง่ายๆ เข้าใจได้ง่าย และตรง ๆ
-กำดัดแดดแผดร้อนทุกขุมขน มีความหมายชัดตรงทุกคำ และแปลกที่เอาคำว่ากำดัดมาประกอบคำว่าแดด
-บ้างถาบถาพาคู่ฟุบฝุ่น คำชัดเจนมากมาก ถาบ ถา ฟุบฝุ่น เป็นรูปธรรมที่มองเห็นกิริยาอาการได้ทันทีเมื่ออ่าน
-ดูบนบกก็แต่ล้วนลิงแสม - ทำลอบแลหลอนหลอก ตะคอกคน ลอบแล หลอนหลอก ตะคอก เห็นอาการของลิงได้ดี
-ถึงเขาขวาง ว่างเวิ้ง ชะวากวุ้งเป็นคำที่สุนทรภู่ใช้บ่อยมากกับลักษณะของ เชิงผา หลืบเขา ถ้ำ ทะเล
-น้ำตาตกอกโอ้อนาถเหนื่อยให้มึนเมื่อยขัดข้องทั้งสองขา
-กลืนกระเดือกเกลือกกล้ำกินน้ำลาย เจียนจะตายเสียด้วยร้อนอ่อนกำลัง ให่ความรู้สึกคอแห้งกระวนกระวาย
-เมฆแอร่มแย้มแยกแหวกตะวัน เป็นคำให้ภาพดีมาก ไม่พบว่าใครใช้ว่าเมฆแยกแหวกตะวัน
-เขม้นเมินเดินตรงเข้าดงดึก ดูซึ้งซึกมิได้เห็นสุรีย์ใส คำว่าดงดึก ดีกว่า ดงลึก เสียงต่ำ กดความรู้สึกให้ลึกลงไป และคำว่าซึ้งซึก ก็เป็นคำที่ไม่เคยมีใครใช้ขยายป่า แต่พออ่าน ตรงนี้ได้ภาพป่าครึ้มลึก
-กระโดดเผาะเกาะผับกระหยับคืบ ได้จังหวะคำและได้ความชัดเจน ใครฟังอ่านดูก็รู้ทันทีว่านี่คือหนอนหรือทากแน่นอน
-ให้เหือดหึงลงเสียบ้างจงฟังคำ คำว่าเหือด คือ แห้งหมด คำว่าเหือดหึง ดีทั้งเสียงพยัญชนะและความหมาย 

2. การใช้คำที่เป็นเสียงแสดงความหมาย คำเหล่านี้ถ้าอยู่โดด ๆ ดูจะเป็นคำที่ไม่มีความหมายหลัก หรือไม่มี ความหมาย ประจำตัว แต่เมื่อสุนทรภู่ นำมาเขียนประกอบเข้ากับความกลับ ทำให้ผู้อ่านได้รับความหมายที่เข้าถึงความคิด ความรู้สึกได้ดีมาก ลักษณะนี้ดูจะเป็นลักษณะเฉพาะตัวของสุนทรภู่ ที่ไม่พบในกวีท่านอื่นๆ เช่นบทกลอนที่ยกมาดังต่อไปนี้
ดูเรือแพแต่ละลำล้วนปะโหละ พวกเจ็กจีนกินโต๊ะกัน โหลเหล
ดูกรวดทรายพรายงามเหมือนเงินราง คำว่ารางที่นี้จะให้ความรู้สึกเงางาม แวววาว ขาววับวาว ทำนองนั้น วรรคนี้พบในเรื่องพระอภัยมณีอีก ในตอนที่สินสมุทรออกจากถ้ำ
ทำซมเซอะเคอะคะมาปะขา ให้ความคิดว่าเซ่อซ่าทำอะไรไม่เข้าท่า
ดูซึ้งซึกมิได้เห็นสุรีย์ใส ลำพังคำว่าซึกไม่มีความหมายตามตัว มาใช้ประกอบ ซึงกลับได้ความดี
-กะมอง กะเมงนมแมวเป็นแถวนั้นไป กะมองกะเมงให้ภาพต้นไม้ขึ้นพันกันไม่รู้ว่าต้นอะไรเป็นต้นอะไร
เพราะเจ้าของแตงโมปะโลปะเล น่าจะได้ความหมายว่า สรวลเสเฮฮาด้วย ล้วนอออือเองกูกะหนูกะหนีคำจำพวกกะหนุงกะหนิงใช้เพี้ยนไป

3. ใช้คำเลียนเสียง มีคำยินเลียนเสียงปรากฏใช้อยู่หลายที่
-ถ้วยชามกลิ้งฉิ่งฉ่างเสียงกร่างโกร่ง -
เป็นเหตุการณ์ตอนที่เรือติดโคลน ต้องช่วยกันถ่อเรือ ข้าวของในเรือกลิ้งไปตามเรือที่เอียงไปเอียงมา
เหมือนคนกรม โครกครอก ทำกรอกตา
เสียงลิงค่างที่ไต่อยู่คาคบไม้ส่งเสียงเมื่อมันตกใจเพราะมีคนเดินมา
-เสียงลิงค่างบางชะนีวะหวีดโหวย กระหึมโหยห้อยไม้น่าใจหาย


4. ความไพเราะอันเกิดจากถ้อยคำ กวีเป็นนายของภาษาสามารถใช้บันดาล ให้เกิดอารมณ์สุนทรีย์ได้อย่างแนบเนียนเป็นขุนคลังของถ้อยคำ จึงมีคำหลายรส หลายอารมณ์ สร้างความไพเราะได้มากมาย ไพเราะด้วยความหมาย ด้วยเสียงสัมผัสสระ , พยัญชนะและไพเราะด้วยน้ำเสียงอันกระทบกระทั่งกัน
                                           -ลำพูรายพรายพร้อยหิ่งห้อยจับ
                                สว่างวับแวววามอร่ามเหลือง
                                เสมอเม็ดเพชรรัตน์จำรัสเรือง
                                ค่อยประเทืองทุกข์ทัศนาชม


พรรณนาโวหาร ให้เห็นภาพพจน์

                        -เห็นพฤกษาไม้มะค่ามะขามข่อย
            ทั้งไทรย้อยยอดโยนโดนตะโขง
            เหมือนไม้ดัดจัดวางข้างพระโรง
            เป็นพุ่มโพรงสาขาน่าเสียดาย
                        -ศิลาแลเป็นชะแง่ชะงักงอน
            บ้างพรุนพรอนแตกกาบเป็นคราบไคล
                        -ค่อยตะกายป่ายปีนเปะปะไป
            จะขาดใจเสียด้วยเหนื่อยทั้งเมื่อยกาย
                        -ถึงพงค้อคอเขาเป็นโขดเขิน
            ต้องขึ้นเนินภูเขาป่าระหง
            ส่งกระทั่งหลังโคกเป็นโตรกตรง
            เมื่อจะลงก็ต้องวิ่งเหมือนลิงโลน
            แต่ข้ามห้วยเหวผาจนขาขัด
            ต้องกำดัดวิ่งเต้นดังเล่นโขน
            ทั้งรากยากขวางโกงตะโขงโคน
            สะดุดโดนโดดข้ามไปตามทาง

อุปมาโวหาร

                        -โอ้ชะนีเวทนาเที่ยวหาผัว
            เหมือนตัวพี่จากน้องให้หมองหมาง
            ชะนีเพรียกเรียกชายอยู่ปลายยาง
            พี่เรียกนางนุชน้องอยู่ในใจ
                        -จักจั่นหวั่นแว่วแจ้วแจ้วเสียง
            เหมือนสำเนียงวนิดาน้ำตาไหล
            หนาวน้ำค้างพร่างพรมพนมไพร
            โอ้เจียนใจพี่จะขาดอนาถนึก
                        -โอ้ดูเดือนเหมือนดวงสุดาแม่
            กระต่ายแลเหมือนฉันคิดพิสมัย
                                    ฯลฯ

            จุดเริ่มต้นของการเดินทางไปหาบิชาที่บ้านกร่ำอำเภอเมืองแกลงนั้นคงจะมาจากสุนทรภู่รับใช้เจ้านายพระองค์หนึ่งเข้าใจว่า คือพระองค์เจ้าปฐมวงศ์ พระโอรสในสมเด็จพระเจ้าฟ้า กรมหลวงอนุรักษ์ เทเวศร์ กรมพระราชวังหลัง ซึ่งทรงผนวชอยู่ ณ วัดบางหว้าใหญ่ คือวัดระฆังโฆษิตารามปัจจุบัน ทรงใช้ให้สุนทรภู่ไปทำธุระให้ที่เมืองบางปลาสร้อยคือจังหวัดชลบุรีปัจจุบัน การเดินทางลำบากลำบนจนสุนทรภู่ออกปากว่า

                         โอ้ยามยากจากเมืองแล้วลืมมุ้ง
                        มากรำยุงเวทนาประดาหาย
                        จะกรวดน้ำคว่ำขันจนวันตาย
                        แม้เจ้านายท่านไม่ใช้แล้วไม่มา

            เมื่อถึงบางปลาสร้อยก็เข้าไปพบและพักที่บ้านขุนจ่าเมืองได้รับการต้อนรับขับสู้อย่างดีและพักอยู่ 3 วัน เมื่อเสร็จภารกิจแล้วจึงออกเดินทาง

                                    -มีมิตรชายท้ายย่านเป็นบ้านไทย
                        สำนักในเคหาขุนจ่าเมือง
                                    -แต่แรมค้างบางปลาสร้อยได้สามวัน
                        ก็ชวนกันเลยลาคุณจ่าเมือง

            ดังนั้นเมื่อได้เดินทางมาจนถึงชลบุรีแล้วระยะทางที่จะไประยองก็อีกครึ่งทาง สุนทรภู่จึงกำหนดแผนการเดินทางไว้เรียบร้อยแล้วว่าจะถือโอกาสนี้ ได้ไปหาบิดาที่สุนทรภู่ไม่เคยได้พบเลย จึงได้ตระเตรียมนายแสง ซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ระยองรู้จักเส้นทางดีเป็นคนนำทาง ตามที่กล่าวไว้ว่า
                                    -กับนายแสงแจ้งทางกลางอารัญ
                        จะพากันแรมทางไปต่างเมือง
            การเดินทางคงกะทันหันมาก ไม่มีเวลาเตรียมตัวแม้แต่จะลาคนรัก

                                    - จะพลัดพรากจากกันไม่ทันลา
                        ใช้แต่ตาต่างถ้อยสุนทรวอน
                                    - พอเป็นค่าผ้าห่มที่ชมแทน
                        อย่าเคืองแค้นเลยที่ฉันไม่ทันลา

            สุนทรภู่เป็นตัวอย่างครอบครัวแตกแยกในสมัยก่อน ซึ่งก็คงไม่ค่อยจะมีแบบนี้นัก เพราะครอบครัวไทยถือหลักความอดทน อดออมถนอมน้ำใจชะรอยว่ามารดาของสุนทรภู่คงเป็นผู้หญิงมีตระกูล หยิ่งในตนเองพอที่จะไม่ใยดีคำพูดของคนรอบข้าง จึงกล้าหาญที่จะเลิกร้างกับบิดาของสุนทรภู่ได้ มิหนำซ้ำเมื่อเลิกร้างแล้วชีวิตก็ไม่ตกต่ำ มีเจ้านายอุปถัมภ์ค้ำจุนและยังได้แต่งงานไปมีบุตรสาว อีกสองคนด้วย แต่สุนทรภู่ก็ไม่เคยเห็นบิดาของตัวเลย คงโหยหาบิดาอยู่ จึงเขียนกลอนไว้ในนิราศเมืองแกลงว่า
                      
                     - ชะรอยกรรมทำสัตว์ให้พลัดพราย
                        จึงแยกย้ายบิตุราชญาติกา
                        มาพบพ่อท้อใจด้วยไกลแม่
                        ให้ตั้งแต่เศร้าสร้อยละห้อยหา
                        ชนนีอยู่ศรีอยุธยา
                        บิดามาอ้างว้างอยู่กลางไพร
                        ภูเขาขวางทางกั้นอรัญเวศ
                        ข้ามประเทศทุ่งท่าชลาไหล
                        เดินกันดารปานปิ้มจะบรรลัย
                        จึงมาได้เห็นหน้าบิดาตัว







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

นิราศเมืองแกลง

              นิราศเมืองแกลง                    นิราศเมืองแกลง สุนทรภู่แต่งเมื่อครั้งเดินทางไปเยี่ยมบิดาที่บ้านกร่ำ เมืองแกลง จั...